ใบความรู้ที่ ๒

ใบความรู้ที่ ๒

เรื่องเทคนิคการเขียนเรียงความที่ดี


ลักษณะเรียงความที่ดี

          ๑.  มีเอกภาพ  หมายความว่า  เนื้อเรื่องจะต้องมีเนื้อหาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่กล่าวนอกเรื่อง  เรียงความจะมีเอกภาพหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการว่างโครงเรื่อง

          ๒.  มีสัมพันธภาพ  หมายความว่า  เนื้อหาจะต้องมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตลอดทั้งเรื่อง  ความสัมพันธ์ต่อเนื่องของเนื้อหาเกิดจากการจัดลำดับความคิด  และการวางโครงเรื่องที่ดี  และเกิดจากการเรียบเรียงย่อหน้าอย่างมีระเบียบ 

          ๓.  มีสารัตถภาพ  หมายความว่า  เรียงความแต่ละเรื่องจะต้องมีสาระสมบูรณ์ตลอดทั้งเรื่อง  ความสมบูรณ์ของเนื้อหาเกิดจากการวางโครงเรื่องที่ดี 


หลักการเขียนคำนำ
          นักเรียนจะต้องเลือกวิธีการเขียนคำนำให้เหมาะสมกับประเภทของงานเขียนเนื้อหาที่เขียนรวมทั้งรับสารด้วย  ปกติมักจะนิยมเขียนคำนำเพียงย่อหน้าเดียว  การเขียนคำนำสามารถกระทำได้หลายวิธี  

          ลักษณะของคำนำที่ดี

          -  ควรเขียนคำนำให้ตรงและสอดคล้องกับเรื่องที่เขียน

          -  ไม่ควรเขียนคำนำที่อ้อมค้อม  มีเนื้อหาไกลจากเรื่องที่เขียน  อาจทำให้ผู้อ่านไม่ทราบจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะเขียนเรื่องอะไร 
          -  ไม่ควรเขียนคำนำที่ยาวเกินไป  ไม่ได้สัดส่วนกับเนื้อเรื่อง  คำนำที่ดีควรมีเพียงย่อหน้าเดียวเท่านั้นอาจมีความยาวประมาณ ๕ บรรทัด  (ยกเว้นมีคำประพันธ์ผสมอยู่ด้วย)   
          -  ในการเขียนคำนำไม่ควรออกตัวว่าไม่พร้อม  หรือไม่เชี่ยวชาญในเรื่องที่เขียนซึ่งอาจมีผลทำให้ผู้อ่านไม่สนใจอ่านก็ได้  
          -  คำนำที่ดี  คือ  คำนำที่บอกให้รู้ได้ทันทีว่าจะเขียนอะไร  และต้องเขียนให้กระชับและเร้าความสนใจด้วย  
          ตัวอย่างการเขียนคำนำที่ดี
          คำนำเริ่มด้วยการยกคำพูด  คำคม  หรือสุภาษิตที่น่าสนใจ
          “ใครทำให้ข้าเสียใจชั่วครู่  ข้าจะทำให้มันเสียใจไปตลอดชีวิต” เป็นคำกล่าวของพระนางซูสีไทเฮาผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยปลายราชวงศ์ชิง  ซึ่งมิใช่คำขู่หรือคำเล่าลือที่ไร้ความจริง  ความยำเกรงของผู้คนทั้งในราชสำนักทหารพลเรือนและประชาชนทั่วแผนดินที่มีต่อพระนางเป็นสิ่งยืนยันคำกล่าวข้างตนนี้เป็นอย่างดีและยังบอกให้รู้ถึงอำนาจอันล้นฟ้าของผู้อยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์และองค์จักรพรรดิเป็นเวลานานถึง ๔๗ ปี”
(ดวงดาว  ทิฆัมพร.  “ซูสีไทเฮา  หญิงบ้านนอกผู้ตั้งตัวเป็นเจ้าชีวิต,”  มิติใหม่.  ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔,  หน้า  ๗๔)

          คำนำที่เริ่มด้วยบทร้อยกรอง
                             “สงสารคำทำการนานแล้ว         ดูไม่แคล้วตาไปในหนังสือ
                   มันถูกใช้หลายอย่างไม่วางมือ                 แต่ละมื้อตรำตรากยากเต็มที
                   ตำรวจเห็นโจรหาญทำการจับ                โจรมันกลับวิ่งทะยานทำการหนี
                   ทำการป่วยเป็นลมล้มพอดี                    ทำการจี้จับหมายว่าตายเอย” 
          
          วันนี้เริ่มต้นด้วยคำกลอนให้เต็มที่เสียหน่อย  เปล่า  ผู้เขียนไม่ได้เก่งกาจถึงกับแต่งขึ้นมาเองดอกแต่กลอนข้างบนนี้เป็นพระนิพนธ์ของ น.ม.ส.  ปรากฏในหนังสือประมวญวันเกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว  แสดงว่ามีคนรำคาญคำว่า  ทำการ  กันมานานแสนนานแล้วถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังรำคาญอยู่  เพราะแม้แต่ในรายงการโทรทัศน์ยอดนิยม  รายการหนึ่ง  คือ  รายการภาษาไทยวันละคำ  ก็ยังกล่าวไว้  
          (นิตยา  กาญจนวรรณ, “เรื่องของ “ทำการ”,” ใน พูดจากภาษาไทย, หน้า ๑๕๙)  


          คำนำที่โน้มน้าวและชักจูงให้ผู้อ่านเห็นคล้อยตาม

          กินมากแล้วก็ต้องอ้วนเป็นเรื่องธรรมดาที่รู้ ๆ กันอยู่  แต่คนสมัยนี้ไม่อยากอ้วนเพราะอ้วนแล้วสร้างปัญหาให้มากมาย  ทั้งโรคหัวใจ  โรคเบาหวาน  โรคเกาต์  และโรคความดันโลหิตสูง  บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  คนส่วนใหญ่จึงอยากจะผอม  แต่ถ้าต้องการผอมก็หยุดกิน  เรื่องที่จะทำให้คนอ้วนหยุดกินเป็นการแนะนำง่าย  แต่ปฏิบัติตามได้ยาก  การสอนคนอ้วนให้กินอย่างถูกวิธี  จึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า

(วินัย  ดะส์ลัน,  “กินให้ผอม.”  เนชั่นสุดสัปดาห์,  ปีที่ ๔ แบบฉบับที่ ๑๙๖,  (๘-๑๔ มีนาคม ๒๕๓๙)

          คำนำที่กล่าวถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเขียนเพื่อนำเข้าสู่เรื่อง
          ในบรรดาสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด  ได้แก่  สถูปเจดีย์และสถูปเจดีย์ที่มีทั้งความเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในเมืองไทยแห่งหนึ่ง คือ พระปฐมเจดีย์  
          (วิบูลย์  ลี้สุวรรณ, “พระปฐมเจดีย์”  ใน ๕ นาทีกับศิลปะไทย,  หน้า ๒๓๓.)

          คำนำที่เริ่มด้วยคำถามหรือข้อความน่าประหลาดใจ
          ในนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่มีข้อความบางตอนอ้างถึงของวิเศษอย่างหนึ่งเรียกว่าตราราหูมีลักษณะประหลาดโดยรูปลักษณ์และคุณสมบัติทำให้เกิดความทึ่งแก่ผู้อ่านว่า  สิ่งนี้คืออะไรแน่  และสุนทรภู่ไปได้ความคิดเกี่ยวกับสิ่งนี้มาจากไหน  เรื่องตราราหูเป็นอย่างไรน่าจะพิจารณาดู  
          (ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดา.  “ตราราหูในพระอภัยมณี.”  ใน  วรรณวิทยา.  หน้า ๙๑)  

วิธีการเขียนสรุป
          การสรุปควรมีเนื้อหาสอดคล้องกับคำนำและประเด็นของเรื่อง  ย่อหน้าสรุปไม่ควรยาว  (ประมาณ ๕-๗ บรรทัด  อาจมีคำประพันธ์ประสมอยู่ด้วย)  แต่ให้มีใจความกระชับประทับใจผู้อ่าน  วิธีการสรุปมีหลายวิธี  นักเรียนอาจนำวิธีการเขียนคำนำบางวิธีมาใช้ในการสรุปได้  เช่น  การสรุปด้วยคำถาม  การสรุปด้วยคำคม  สุภาษิต  และบทร้อยกรองหรือสรุปด้วยข้อความที่ให้แง่คิด  เป็นต้น  

          ตัวอย่างการเขียนสรุปความที่ดี

          การสรุปด้วยการฝากข้อคิดและความประทับใจให้แก่ผู้อ่าน

          ดังนั้นถ้าเราอยากให้น้ำใจเกิดขึ้นในสังคมของเรา  ต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองกันทุกคน  อย่ามัวเรียกร้องให้คนอื่นมีน้ำใจเพราะถ้าเราไม่มีน้ำใจ  การเรียกร้องให้ผู้อื่นมีน้ำใจต่อเราจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว  และถ้าเรามีน้ำใจแล้วก็ไม่ต้องเรียกร้องให้ใครมีน้ำใจ  น้ำใจของเราต่างหากที่จะเพาะความมีน้ำใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นโดยไม่ต้องเรียกร้อง  
(ปรีชา ช้างขวัญยืน.“คอลัมน์ปากกาขนนก เรื่องน้ำใจ,สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์.ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๗,หน้า  ๕๘.)

          การเขียนสรุปด้วยข้อคำคม  สุภาษิต  และบทร้อยกรอง
          ขณะนี้วิชชาอันเนื่องมากจากลัทธิบริโภคนิยมได้เข้าไปสั่นคลอนจรรยาบรรณในทุกวิชาชีพ  ทำให้ผู้คนมักมากและมีวิธีการสร้างความยอมรับแปลก ๆ  ไม่ได้เว้นแม้แต่นักวิชาการและครูบาอาจารย์  โชคยังดีอยู่บ้างที่ยังเหลือ  ผู้เข้มแข็งออกมาแสดงบทบาทให้ในระดับสาธารณะอยู่บ้างประปราย  เป็นกระแสธารน้อยที่ไหลแรงมิพักจะหยุดไหลมีบทบาทสมดังคำยกย่องของกวีของชาติ  เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์  ที่ว่า 
                                      ครูคือผู้ชี้นำทางความคิด  ให้รู้ถูกรู้ผิดคิดอ่านเขียน
                             ให้รู้ทุกข์ยากรู้พากเพียร             ให้รู้เปลี่ยนแปลงสู้รู้สร้างงาน
                             ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์     ให้สูงสุดกว่าสัตว์เดรัจฉาน
                             ครูคือผู้สั่งสมอุดมการณ์             ปณิธานเพื่อมวลชนใช่ตนเอง
          (กมลสมัย  วิชิระไชยโสภณ. นักวิชาการกับสังคม, “ก้าวไกล”. ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๒,หน้า ๒๓)  

          การเขียนสรุปด้วยคำถามให้ผู้อ่านเก็บไปคิดหรือไตร่ตรองต่อไป  
          ภาษาไทยปัจจุบันนี้กำลังเสื่อมมาก   ถึงเวลาหรือยังที่เราจะคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังน่าจะกำหนดไว้ในนโยบายของรัฐบาลได้แล้วว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการค้นคว้าศึกษาเรื่องภาษาไทยเพื่อเป็นการให้ภาษาไทยมีความเจริญมั่นคงสมกับที่ภาษาเป็นวัฒนธรรมสำคัญยิ่งของชาติ  
(เปลือง ณ นคร. “ศาลฎีกาแห่งภาษา”. สารสถาบันภาษาไทย. ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓, หน้า ๒๔.)

          การเขียนสรุปด้วยการชักชวนให้ปฏิบัติตาม
          ที่กล่าวมานั้นเป็นวิธีการโกงการเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด  ดังนั้นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งควรใช้วิจารณญาณของท่านตัดสินดูพฤติกรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าเป็นเช่นไร  หากพบเห็นความไม่ชอบมาพากล  หรือพบการทุจริตอย่างเห็นได้ชัด  อย่างคิดว่าธุระไม่ใช่  แต่ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมเพื่อขจัดคนเลวให้พ้นจากวงจรประชาธิปไตยของเรา  ขอให้เราเริ่มต้นกันตั้งแต่บัดนี้เพื่อประชาธิปไตยที่สดใสของเราในวันหน้า  
          (สำนักงานสารนิเทศ. “การซื้อเสียง”, ใน ใจถึงใจ เล่ม ๒. หน้า ๕๑.)

การใช้โวหารในการเขียน

          โวหาร หมายถึง วิธีการเขียนเรียบเรียงข้อความให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง โวหารที่ใช้ในการเขียนเรียงความ ได้แก่ พรรณนาโวหาร บรรยายโวหาร อุปมาโวหาร เทศนาโวหาร สาธกโวหารและอธิบายโวหาร

            ๑. บรรยายโวหารหมายถึง การเขียนอธิบายหรือบรรยายเหตุการณ์ที่เป็นข้อเท็จจริงตามลำดับเหตุการณ์ เป็นการเขียนตรงไปตรงมา ไม่เยิ่นเย้อ มุ่งความชัดเจนเพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้ ความเข้าใจ เช่น การเขียนเล่าเรื่อง เล่าเหตุการณ์ การเขียนรายงาน เขียนตำราและเขียนบทความ

          “ช้างยกขาหน้าให้ควาญเหยียบขึ้นนั่งบนคอตัวมันสูงใหญ่ใบหูไหวพะเยิบ หญิงบนเรือนลงบันไดมาข้างล่าง เธอชูแขนยื่นผ้าขาวม้าและข้าวห่อใบตองขึ้นมาให้เขา
          ๒. พรรณนาโวหารหมายถึง การเรียบเรียงข้อความโดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล สิ่งของ ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ตลอดจนความรู้สึกต่างๆของผู้เขียน โดยเน้นให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับผู้เขียน
           สมใจเป็นสาวงามที่มีลำแขนขาวผ่องทั้งกลมเรียวและอ่อนหยัดผิวขาวละเอียดเช่นเดียวกับแขน ประกอบด้วยหลังมืออวบนูน นิ้วเล็กเรียว หลังเล็บมีสีดังกลีบดอกบัวแรกแย้ม
          ๓. เทศนาโวหารหมายถึง การเขียนอธิบาย ชี้แจงให้ผู้อ่านเข้าใจ ชี้ให้เห็นประโยชน์หรือโทษของเรื่องที่กล่าวถึง เป็นการชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตาม เห็นด้วยหรือเพื่อแนะนำสั่งสอนปลุกใจหรือเพื่อให้ข้อคิดคติเตือนใจผู้อ่าน

          “ การทำความดีนั้นเมื่อทำแล้วก็แล้วกัน อย่าได้นำมาคิดถึงบ่อย ราวกับว่าการทำความดีนั้นช่างยิ่งใหญ่นัก ใครก็ทำไม่ได้เหมือนเรา ถ้าคิดเช่นนั้นความดีนั้นก็จะเหลือเพียงครึ่งเดียวแต่ถ้าทำแล้วก็ไม่น่านำมาใส่อีก คิดแต่จะทำอะไรต่อไปอีกจึงจะดี จึงจะเป็นความดีทีสมบูรณ์ ไม่ตกไม่หล่น
          ๔. อุปมาโวหารหมายถึงการเขียนเป็นสำนวนเปรียบเทียบที่มีความคล้ายคลึงกัน เพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยการเปรียบเทียบสิ่งของที่เหมือนกัน เปรียบเทียบโดยโยงความคิดไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง หรือเปรียบเทียบข้อความตรงกันข้ามหรือข้อความที่ขัดแย้งกัน

          “ อันว่าแก้วกระจกรวมอยู่กับสุวรรณย่อมได้แสงจับเป็นเลื่อมพรายคล้ายมรกต ผู้ที่โง่เขลาแม้ได้อยู่ใกล้นักปราชญ์ ก็อาจเป็นคนเฉลียวฉลาดได้ฉันเดียวกัน
          ๕. สาธกโวหารหมายถึง การหยิบตัวอย่างมาอ้างอิงประกอบการอธิบายเพื่อสนับสนุนข้อความที่เขียนไว้ให้ผู้อ่านเข้าใจ และเกิดความเชื่อถือ
          “ อำนาจความสัตย์เป็นอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่เพียงแต่จับหัวใจคน แม้แต่สัตว์ก็ยังมีความรู้สึกในความสัตย์ซื่อ เมื่อกวนอูตายแล้วม้าของกวนอูก็ไม่ยอมกินหญ้ากินน้ำและตายตามเจ้าของไปในไม่ช้า ไม่ยอมให้หลังของมันสัมผัสกับผู้อื่นนอกจากนายของมัน

หลักการใช้สำนวนภาษาในเรียงความ
          ๑. ใช้ภาษาให้ถูกหลัก
          ๒.ไม่ควรใช้ภาษาพูด
          ๓. ไม่ควรใช้ภาษาแสลง
          ๔. ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ยากที่ไม่จำเป็น
          ๕. ใช้คำให้ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคล
          ๖. ผูกประโยคให้กระชับ

สิ่งที่ควรคำนึงในการเขียนเรียงความ
          ๑. เนื้อความในย่อหน้าต้องเสนอความคิดที่เป็นประเด็นเดียวกัน มีความเป็นเอกภาพ และแต่ละย่อหน้าต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ เรียบเรียงตามลำดับความคิดเป็นเรื่องเดียวกัน

            ๒. การเตรียมความรู้และความคิดในการเขียนเรียงความ จำเป็นต้องเลือกเขียนเรียงความในเรื่องที่ตนเองมีความรู้และความสนใจ รวมทั้งมีข้อมูลในการเขียนมากที่สุด

            ๓. การเลือกใช้ถ้อยคำ ควรคำนึงถึงความเหมาะสมของเรื่องที่จะเขียน มีการใช้โวหารประกอบ ใช้ภาษาระดับทางการ ส่วนภาษาพูด คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ คำย่อไม่ควรนำมาใช้ในการเขียนเรียงความ

          ๔.  กลไกในการเขียนเกี่ยวกับการเขียนตัวสะกดการันต์ การเว้นวรรคตอน การเรียบเรียงถ้อยคำ การใช้ภาษา การเลือกสรรคำที่เหมาะสมและถูกต้อง สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้งานเขียนเรียงความมีความงดงามและน่าติดตามอ่านจนจบ 
       เมื่อนักเรียนได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการเขียนเรียงความมาโดยลำดับ  นับตั้งแต่การเลือกเรื่องการเขียนโครงเรื่อง  การเรียบเรียงเนื้อเรื่องตามองค์ประกอบของเรียงความและการเขียนย่อหน้าที่ดีนักเรียนก็จะได้เรียงความเรื่องหนึ่ง  แต่เรียงความเรื่องนั้นยังนับว่าไม่สมบูรณ์  ถ้านักเรียนยังไม่ได้ทบทวนเพื่อแก้ไขปรับปรุง  การตรวจทานเป็นขั้นตอนการเขียนขั้นสุดท้ายที่จำเป็น  ไม่ควรละเลยขั้นตอนนี้อย่างเด็ดขาด  เพราะจะได้ตรวจทานว่าเรื่องนั้นมีภาษาและเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่  เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์อีกครั้งหนึ่งก่อนส่งครู


เทคนิคการฝึกฝนการเขียนเรียงความ
          ๑. เลือกเรื่องที่ตนเองสนใจ
          ๒. เริ่มต้นจากการเขียนเรื่องง่ายๆ
          ๓. การเขียนครั้งแรกอาจเขียนเป็นประโยคคร่าวๆ ไว้ก่อน เพื่อเป็นการสร้างโครงเรื่อง
          ๔. ฝึกขยายข้อความจากประโยคหรือโครงเรื่องที่ตั้งไว้
          ๕. ลงมือเขียนทันทีที่พบเห็นสิ่งใดหรือเมื่อเกิดความคิดขึ้น

         

ตัวอย่างรียงความที่ดี (ที่ได้รับรางวัลการประกวด)

เรียงความเรื่อง "ทำไมเราจึงรัก พระเจ้าอยู่หัว"

โดย นางสาวมยุดา สมเพ็ชร
           หนูเป็นเด็กต่างจังหวัดอยู่ปักษ์ใต้ ตั้งแต่จำความได้ในทีวีหนูก็เห็นรูปผู้ชายคนหนึ่งเดินนำหน้าแล้วมีผู้คนเดินตามหลังท่านมากมายไปหมด พร้อมกันนั้นก็มีผู้คนนั่งกับพื้นต้อนรับท่านทุกที่ที่ท่านไป ผู้ชายคนนั้นเป็นใครนะ จนโตหนูถึงได้รู้ว่า เขาคือผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินเกิดของหนูเอง และหนูก็เห็นพระราชกรณียกิจของท่านเยอะแยะมากมายทางทีวี จนทำให้หนูปลาบปลื้มท่านมากยิ่งเป็นช่วงหน้าฝน ฝนตกหนัก น้ำท่วมท่านก็เสด็จไปปักษ์ใต้เพื่อดูปัญหาความเดือดร้อน และท่านก็โปรดให้สร้างเขื่อนคลองชลประทาน ส่วนช่วงหน้าแล้งท่านก็เสด็จไปภาคอีสาน ไปดูความแห้งแล้งของคนอีสาน และท่านก็ทำฝนเทียมช่วยเหลือประชาชน 
         หนูได้แต่คิดตลอดเวลาว่า... ทำไมผู้ชายคนนี้ต้องลำบากตัวเองขนาดนี้ ท่านเดินทางไปทุกที่ที่ทุรกันดารและสุดแสนจะลำบาก ท่านทรงทำทุกอย่างเพื่อประชาชนทั้งประเทศ ท่านทรงเก่งมากสามารถรู้หมดว่าในพื้นที่เมืองไทยว่าตรงไหนเป็นภูมิประเทศลักษณะไหน แอ่งน้ำ ภูเขา อย่างเช่น ใกล้บ้านหนูที่ อ.ปากพนัง ท่านก็ทำอ่างเก็บน้ำใหญ่โตมากเพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอำนวยประโยชน์ต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณ อ.ปากพนัง ญาติพี่น้องหนูที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นได้ประกอบอาชีพทั้งการเกษตรและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ทั้งปี 
           สำหรับตัวหนูแล้ว หนูคิดและฝันไว้ว่าสักวันหนึ่งหนูจะต้องเห็นผู้ชายคนนี้ตัวจริง ๆ สักครั้งในชีวิต แล้วหนูก็มีความพยายามมาก คือวันที่ 4 ธันวาคม 2549 ซึ่งก่อนวันเกิดท่าน 1 วัน เพราะวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันพ่อแห่งชาติหนูทราบข่าวว่าท่านจะเสด็จกลับจากวังไกลกังวล เพื่อมาร่วมงานที่ทางรัฐบาลได้จัดขึ้น หนูก็เลยมารอรับเสด็จท่านอยู่หน้าโรงเรียนสวนจิตรลดา ท่านเสด็จมาตอนเกือบ 1 ทุ่ม ท่านนั่งมากับพระราชินี พระราชินีท่านโบกมือให้หนู แต่พระเจ้าอยู่หัวนั่งนิ่งมากค่ะ แต่หนูเห็นพระพักตร์ท่านชัดมาก หนูดีใจมาก และก่อนหน้านี้หนูก็ไปงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ที่มีผู้คนเป็นแสน หนูก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีความพยายาม หนูขอลาพักร้อนไป 1 วัน เพื่อไปเฝ้ารับเสด็จท่านที่ลานพระรูปทรงม้า หนูตื่นตั้งแต่ ตี 4 ซื้อน้ำเปล่า 1 ขวด กับ ขนมปัง 1 ถุง เพื่อไปรอรับเสด็จท่าน ถึงขนาดที่รอนั้นหนูลำบากขนาดไหนห้องน้ำก็ไม่พอ ร้อนก็ร้อน แต่หนูทนได้ค่ะ เพราะหนูคิดว่า...ท่านทรงเหนื่อยกว่าหนูมากมายนัก และท่านก็เหนื่อยมาตลอดชีวิตของท่านเพื่อประชาชนของท่าน และท่านก็ออกมาจากหน้าต่างมาโบกไม้โบกมือให้กับหนูและคนอื่น ๆ ที่นั่งอยู่ และทุกท่านก็โบกธงและพูดพร้อมกันว่า...
          ขอให้ท่านทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ พร้อม ๆ กันเสียงก้องดังมาก หนูคิดว่าสิ่งที่หนูเห็นและได้ยินนั้นคือ บารมีที่ท่านได้ทำไว้ทุกคนพร้อมใจกันเปล่งเสียงดังตะโกนโดยไม่มีใครมาบอกคนที่นั่งว่าต้องตะโกนแบบนี้นะ แต่ทุกคนก็เปล่งเสียงดังออกมาพร้อมกัน หนูรู้สึกปลาบปลื้มใจมากจนขนลุกซู่
           หนูคงบรรยายความรู้สึกที่มีต่อท่านได้ไม่หมดหน้ากระดาษแค่แผ่นเดียว เพราะทุกกิจกรรมไม่ว่าที่เมืองทองที่ท้องสนามหลวง หรือซุ้มที่ถนนราชดำเนินทั้งนอกและใน และกับคนเป็นหมื่น ๆ ค่ะ ที่หนูไปต่อคิวเพื่อรอรับพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว 
            วันนั้นหนูยืนต่อคิวและกลับถึงบ้าน ตี 1 หนูก็ทำมาแล้ว เพื่อพระฉายาลักษณ์ของท่านเพียงรูปเดียว และล่าสุดหนูได้ไปร่วมงานของสโมสรสันติบาลจัดขึ้น เนื่องในวันฉัตรมงคลที่ลานพระรูปทรงม้า หนูไปมาเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 53 ไปนั่งดูพระกรณียกิจของท่าน นั่งดูแล้วถึงกับน้ำตาซึมเลยทีเดียว เพราะท่านทรงเหน็ดเหนื่อยมากจริง ๆ ค่ะ แล้วหนูก็กลับมาคิดว่าตอนนี้ท่านไม่สบายอยู่ที่ รพ.ศิริราช อาจเป็นเพราะเมื่อตอนที่ท่านร่างกายแข็งแรงท่านทรงทำงานหนักมากโดยไม่ย่อท้อเลย พอท่านอายุเพิ่มมากขึ้นทำให้ร่างกายของท่านทรุดโทรมมาก
        สำหรับหนูแล้ว หนูคิดว่าท่านไม่ใช่คนธรรมดาคนหนึ่ง แต่ท่านเกิดมาพร้อมบารมีอันศักดิ์สิทธิ์ ท่านเหมือนพระพุทธเจ้า ซึ่งหนูคิดเองอยู่ตลอดเวลาสำหรับหนูแล้วกระดาษที่เป็นรูปท่าน หรือปฏิทินหนูไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้นอกจากเก็บไว้ 
           อีกอย่างหนึ่งที่หนูอยากจะกล่าวในบทความนี้ คือการใช้ชีวิตแต่พอเพียงอย่างที่ท่านให้ข้อคิดไว้ ทุกวันนี้ท่านสอนเกษตรกร หากมีพื้นที่ทำกินอยู่แปลงหนึ่ง ต้องแบ่งทำมาหากินอย่างไรบ้าง ส่วนหนึ่งปลูกบ้าน ส่วนหนึ่งเลี้ยงปลา อีกส่วนหนึ่งปลูกผัก หนูเองก็ใช้ชีวิตอย่างนั้น หนูทำงานอยู่ที่นี่ถือว่าเงินเดือนหนูน้อยก็จริง แต่หนูก็ใช้ชีวิตไม่ฟุ่มเฟือย แบ่งเงินเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งเก็บฝากแบงค์ประจำ ส่วนหนึ่งเก็บไว้ใช้จ่ายภายใน 1 เดือน อีกส่วนหนึ่งก็ซื้อของให้รางวัลตัวเองบ้าง หนูอยากให้ทุกคนทำอย่างนี้ค่ะ จะได้สบายไม่มีหนี้สินกัน 
            สุดท้ายนี้ หนูคิดว่าเพื่อเป็นการตอบแทนท่าน หนูไม่ต้องคิดทำโครงการใหญ่โตอลังการหรอกค่ะ แค่หนูเป็นคนดีในสังคม และไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นก็เพียงพอแล้วค่ะ ท่านจะได้สบายใจ ไม่เครียด และจะได้ไม่มีผลต่อกระทบต่อร่างกายของท่าน ท่านจะได้มีความสุข สุขภาพแข็งแรง อยู่คู่บ้านคู่เมืองกับคนไทยทั้งประเทศตลอดไปยิ่งยืนนานค่ะ



เอกสารอ้างอิง
          กัลยา  สหชาติโกสีย์ และคณะ.  ๒๕๕๑.  หลักภาษาไทย ม.๒ (ครูมือครู).   

อักษรเจริญทัศน์ อจท.  กรุงเทพฯ.
          เทคนิคการเขียนเรียงความ. ๒๕๕๕. (ออนไลน์).  สืบคนจาก : http://variety.horoworld.com
[๒๕ธันวาคม ๒๕๕๖]








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น